ประวัติมูลนิธิ
“เมื่อผู้ใดประสบภัยธรรมชาติ ย่อมมีความเดือดร้อนมากเพราะไม่ทราบล่วงหน้า
ว่าภัยธรรมชาติจะมาเมื่อไร ใครจะโดนมากน้อยแค่ไหนก็ไม่ทราบ ฉะนั้นเมื่อถูกภัยธรรมชาติ
จึงทำให้จิตใจมีความทุกข์มาก และการที่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ได้ปฏิบัติการ
ก็ได้บรรเทาความเดือดร้อนเหล่านั้นได้อย่างดี เพราะว่าเมื่อเดือดร้อนและมีผู้ไปช่วยเหลือโดยเร็วทำให้จิตใจนั้นเบิกบานขึ้นได้ ในการนี้ต้องอาศัยกำลังคนที่จะไปปฏิบัติการและกำลังทรัพย์
ที่จะนำสิ่งของไปบริจาค ท่านทั้งหลายที่บริจาคเงินจึงเป็นผู้ที่ช่วยกิจการนี้
และนับได้ว่าได้บุญมากที่ได้สงเคราะห์ผู้ที่ตกทุกข์ได้ยากโดยฉับพลัน”
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
พระราชทานแก่คณะกรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ส่วนกลาง
คณะกรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ประจำจังหวัด ผู้มีจิตศรัทธา
นักเรียนทุนพระราชทานการศึกษาสงเคราะห์ และสื่อมวลชน
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต วันพฤหัสบดีที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๒๔
ประวัติมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์
เมื่อวันที่ ๒๕ ต่อกับวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๐๕ ได้เกิดพายุโซนร้อน ชื่อ “แฮเรียต” พัดผ่านทางตอนใต้ของประเทศไทย ยังความเสียหายให้เกิดแก่จังหวัดภาคใต้ถึง ๑๒ จังหวัด ในคืนวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๐๕ เวลาประมาณ ๑๙.๐๐ น. นายปกรณ์ อังศุสิงห์ นายกมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ ได้รับโทรศัพท์จากคุณพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ อดีตเลขาธิการสำนักพระราชวัง ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองมหาดเล็กว่าพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นห่วงผู้ประสบภัย และทรงติดต่อขอเครื่องบินจากกองทัพอากาศไว้แล้ว ขอให้รีบเดินทางไปช่วยเหลือโดยด่วน
ขณะนั้น กรมประชาสงเคราะห์ ได้เตรียมสิ่งของไว้พร้อมแล้ว จึงเดินทางไปในวันรุ่งขึ้น คือ วันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๐๕ นายปกรณ์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ พร้อมด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงมหาดไทย อาทิ หลวงอรรถวิภาคไพศาลย์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และหลวงยุกตเสวีวิวัฒน์ อธิบดีกรมโยธาเทศบาล ได้เดินทางไปพร้อมกับแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สภากาชาดไทย ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ องค์สภานายิกา ได้มีกระแสรับสั่งให้ร่วมเดินทางไปกับกรมประชาสงเคราะห์ เพื่อทำการสงเคราะห์ และบรรเทาทุกข์ในครั้งนี้ด้วย ต่อจากนั้น นายปกรณ์ อังศุสิงห์ และคณะได้เดินทางไปพบผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชและร่วมเดินทางกันไปยังแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง ปรากฏว่าสภาพของแหลมตะลุมพุกน่าสังเวชมากไม่มีบ้านเรือนราษฎรเหลืออยู่เลย และยังมีศพลอยน้ำอยู่เกือบจะไม่มีที่พอฝังศพ มีผู้เสียชีวิตในครั้งนั้นทั้งสิ้นประมาณ ๑,๐๐๐ คน ส่วนผู้ที่รอดชีวิตได้อพยพไปอยู่ยังอำเภอปากพนัง และกลับภูมิลำเนาเดิม
สำหรับทางด้านกรุงเทพมหานครนั้น พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สถานีวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประกาศโฆษณาเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์และสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยทรงรับเงินและสิ่งของด้วยพระองค์เอง ประชาชนได้หลั่งไหลเข้าสู่สถานีวิทยุ อส. ทุกวันเป็นเวลา ๑ เดือน มีผู้บริจาคเงินโดยเสด็จพระราชกุศลถึง ๑๑ ล้านบาทเศษ และสิ่งของประมาณห้าล้านบาท
ส่วนผู้ที่ไม่สามารถบริจาคทรัพย์ และสิ่งของได้ก็บริจาคแรงงานช่วยขนสิ่งของ ที่น่าปลื้มใจก็คืองานนี้ทำโดยอาสาสมัคร ซึ่งส่วนมากเป็นนิสิต นักศึกษาลูกเสือและนักเรียน ได้ทำการจัดและขนส่งสิ่งของเหล่านั้นไปบรรเทาภัยแก่ประชาชน โดยมีนายเจริญ มโนพัฒนะ รองอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ รักษาการแทน อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเงินและ สิ่งของไปดำเนินการตามพระราชประสงค์ตลอดเวลา
จังหวัดที่ได้รับความเสียหายมาก คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้ว่าราชการจังหวัดร่วมกับกรมประชาสงเคราะห์ ได้แจกอาหาร เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค จัดซ่อมแซมบ้าน ที่พัก และสร้างที่พัก ชั่วคราว ให้ผู้ประสบภัยอยู่อาศัย ตลอดจนเครื่องมือประกอบอาชีพ และสิ่งสาธารณประโยชน์ โดยมอบเงินให้เป็นทุนประเดิมแก่วัดวาอาราม มัสยิด ศาลเจ้าและสถานสงเคราะห์เด็กที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อรับบุตรหลานของผู้ประสบภัย ที่กำพร้าบิดา มารดาหรือผู้ปกครองเสียชีวิต โดยอยู่ในความดูแลของ
กรมประชาสงเคราะห์
นอกจากนี้ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินให้กระทรวงศึกษาธิการสร้างโรงเรียนประชาบาลที่ถูกพายุพัดพัง รวม ๑๒ โรงเรียน ใน ๖ จังหวัดภาคใต้ และภายหลัง พระราชทานชื่อว่า "โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๑,๒,๓,๔,๕ ถึง ๑๒" ตามลำดับ (โดยในปัจจุบัน มีโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ทั้งหมด ๖๗ แห่ง ทั่วประเทศ และโรงเรียนที่มูลนิธิฯ ให้การสนับสนุนอีก ๘ โรงเรียน รวมเป็น ๗๕ โรงเรียน)
เมื่อได้ช่วยเหลือประชาชนในระยะแรกแล้ว ยังเหลือเงินอีกสามล้านบาท พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริว่าเงินสามล้านบาทนี้ เป็นเงินที่ประชาชนมีส่วนร่วมอยู่ด้วยจึงควรตั้งเป็นทุนเพื่อหาดอกผลสำหรับสงเคราะห์เด็กที่ครอบครัวประสบวาตภัยภาคใต้ ขาดผู้อุปการะเลี้ยงดูประการหนึ่ง กับสำหรับสงเคราะห์ช่วยเหลือราษฎรผู้ประสบภัยกรณีต่างๆ ทั่วประเทศอีกประการหนึ่ง
ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงพระราชทานเงินสามล้านบาท ให้เป็นทุนประเดิมก่อตั้งมูลนิธิ และพระราชทานนามว่า “มูลนิธิราชประชานุเคราะห์” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อยู่ใน“พระบรมราชูปถัมภ์” กับทรงดำรงตำแหน่งพระบรมราชูปถัมภกแห่งมูลนิธินี้ด้วย ชื่อของมูลนิธินี้หมายความว่า “พระราชา” และ “ประชาชน” อนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน เป็นการแสดงน้ำพระทัยว่า เวลาทำงานควรจะให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมด้วย
มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้ก่อกำเนิดขึ้นและจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๐๖ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงมีต่อพสกนิกรของพระองค์โดยได้ทรงมีพระราชดำริว่าภัยธรรมชาติ หรือสาธารณภัยอาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ ไม่มีผู้ใดจะคาดหมายได้ดังที่ได้เกิดขึ้นที่แหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราช และอีกหลายจังหวัดในภาคใต้ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งสำนักงานมูลนิธิอยู่ในบริเวณกรมประชาสงเคราะห์
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้พระราชทานกำเนิดมูลนิธิฯ ได้ทรงแต่งตั้ง นายปกรณ์ อังศุสิงห์ เป็นนายกมูลนิธิฯ คนแรก และดำรงตำแหน่งมาจนถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๓๙
มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ได้ดำเนินการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยธรรมชาติและภัยพิบัติต่างๆ ได้ปรับปรุงวัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และพระราชดำริของพระบรมราชูปถัมภก ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ได้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ พร้อมทั้งให้การช่วยเหลือด้านการศึกษา อาทิ มอบเงินสนับสนุนโครงการพัฒนาโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ทั้ง ๖๗ โรงเรียน และโรงเรียนที่มูลนิธิฯ ให้การสนับสนุนอีก ๘ โรงเรียน รวม ๗๕ โรงเรียน มอบอุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์กีฬาและมอบทุนพระราชทานเพื่อการศึกษาสงเคราะห์ต่อเนื่องให้แก่นักเรียนเรียนดีที่จบการศึกษาจากโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ เด็กกำพร้าที่บิดาหรือมารดาเสียชีวิตจากสาธารณภัย ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาสูงสุดตามความสามารถ โดยได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษาจากสถานศึกษาต่างๆ เป็นอย่างดี
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงรับมูลนิธิไว้ในพระราชูปถัมภ์ และทรงดำรงตำแหน่ง “องค์พระราชูปถัมภก” แห่งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทรงห่วงใยทุกข์ยากของราษฎรเป็นอันดับแรก ได้พระราชทานแนวทางในการปฏิบัติเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยให้เป็นระบบ รวดเร็ว และไม่ซ้ำซ้อน โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ องคมนตรี ผู้แทนพระองค์ ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ นำสิ่งของพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภค มอบแก่ราษฎรผู้ประสบภัย อีกทั้งได้รับการสนับสนุนความร่วมมือจากส่วนราชการต่างๆ ให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนอย่างเข้าถึง และทรงห่วงใยผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติ โดยพระราชทานทุนการศึกษา เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ และเยียวยาผู้ได้รับความสูญเสีย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
จากการดำเนินงานที่ผ่านมา มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระราชูปถัมภ์ ได้ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามแผนเร่งด่วน โดยการสนับสนุนอาหาร และน้ำดื่ม รวมถึงสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็น เข้าถึงพื้นที่ประสบภัยพิบัติอย่างรวดเร็ว และตรงจุด มอบถุงยังชีพพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ผู้ประสบภัย ให้สามารถมีกำลังใจในการดำรงชีวิต ต่อสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้นได้ต่อไป และการช่วยเหลือระยะยาวนั้น มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ได้มีการสำรวจครอบครัวผู้เสียชีวิตจากภัยธรรมชาติ โดยมอบทุนพระราชทานเพื่อการศึกษาสงเคราะห์ให้แก่บุตร-ธิดา ในครอบครัวที่บิดา มารดา หรือผู้ปกครอง เสียชีวิตจากภัยต่างๆ ให้สามารถมีโอกาสศึกษาเล่าเรียน สร้างอนาคตที่ดี และเป็นกำลังสำคัญของครอบครัวต่อไป