โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๑๓ จังหวัดอุตรดิตถ์
ประวัติโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๑๓
โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๑๓ อยู่ที่ ๑๑๗ หมู่ที่ ๓ ตำบลท่าแฝก อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๔๙๘ เป็นอาคารชั่วคราวแล้วใช้ชื่อว่า “โรงเรียนบ้านงอมศักดิ์” เปิดสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ ต่อมาราษฎรได้จัดสร้างอาคารเรียนขึ้นมาอีกหนึ่งหลังบนเนื้อที่ ๙ ไร่เศษ โดยมีนายสนิท แสนเขื่อนแก้ว เป็นครูใหญ่ เป็นอาคารขนาดกว้าง ๓ วา ยาว ๔ วา และต่อมาเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๐๙ ได้โอนมาสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์ วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๑๓ เกิดอุทกภัย น้ำท่วมบ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหายมีผู้คนล้มตาย จนต้องอพยพย้ายที่อยู่ใหม่โดยอาศัยอยู่บนเนินห่างจากบริเวณน้ำท่วมเดิม ๕๐๐ เมตร โรงเรียนยังอยู่ที่เดิมมีสภาพทรุดโทรม วันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๑๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยี่ยมราษฎรบ้านงอมสักซึ่งถูกน้ำป่าไหลท่วมเสียหาย ได้ทอดพระเนตรโรงเรียนซึ่งอยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก จึงได้พระราชทานเงินจำนวน ๑๕,๐๐๐ บาท ให้นายอำเภอท่าปลานำไปซ่อมแซมอาคารเรียน และราษฎรได้พร้อมใจกันโดยเสด็จพระราชกุศลช่วยกันย้ายโรงเรียนจากที่ตั้งเดิมขึ้นไปอยู่บนเนินในหมู่บ้าน และองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้อนุมัติเงินสนับสนุนเพิ่มเติมอีก ๔๐,๐๐๐ บาท สร้างเป็นอาคารแบบ ป. ๑ ฉ จำนวน 3 ห้องเรียนกว้าง ๗ เมตร ยาว ๒๔ เมตร บนเนื้อที่ ๔ ไร่ ๓๐๐ ตารางวา บ้านพักครู ๑ หลัง จำนวนเงิน ๒๕,๐๐๐ บาท ต่อมาเมื่อสร้างโรงเรียนและอาคารใหม่เสร็จทางอำเภอได้ขอเปลี่ยนชื่อโรงเรียนบ้านงอมศักดิ์ เป็น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๑๖ และได้รับอนุญาตจากจังหวัดอุตรดิตถ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๔ แต่ไม่ปรากฏหลักฐาน ทางสำนักงานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในส่วนกลาง วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๓๕ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ได้มอบหมายให้ นายประวิทย หาญณรงค์ เลขาธิการพร้อมด้วย คุณหญิงอนงค์ กาญจนวณิชย์ หัวหน้าสำนักงานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ และเจ้าหน้าที่ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมโรงเรียน พร้อมกับ นายสุริยา รัตนไตร ผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดอุตรดิตถ์ และนายเสรี เสือแสงทอง นายอำเภอท่าปลา เพื่อหาข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับชื่อของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๑๖ ซึ่งซ้ำกับโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๑๖ อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคราม วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๓๔ คณะของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ได้ประชุมพิจารณาชื่อโรงเรียนและโรงเรียนได้ชื่อว่า ”โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๑๓ วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ คณะของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ได้เดินทางมาทำพิธีเปิดป้ายโรงเรียนและโรงเรียนได้ชื่อว่า "โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ๑๓ " เป็นต้นไป
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่นี่ https://data.bopp-obec.info/web/?School_ID=1053690114